
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ในการเกษตร
เกษตรกรรุ่นใหม่หลายๆท่านมีคำถามว่าทำไมต้นไม้ พืชที่อยู่ในป่า จึงแข็งแรง ทนทาน ต้านโรคและแมลง ปุ๋ยก็ไม่เคยมีใครเอาไปใส่ให้ แต่กลับเติบโตออกดอกติดผลให้เก็บมาบริโภคกันอย่างต่อเนื่อง ที่คนสมัยก่อนเรียกว่าของป่านั้นเอง พืชเหล่านั้นได้ปุ๋ยมาจากที่ไหน ขาดน้ำหลายเดือนก็ยังอยู่ได้ และเกษตรกรหลายๆท่านเคยแปลกใจบ้างไหมว่าการทำการเกษตรใช้สารเคมีคุณภาพดีๆราคาแพงๆยิ่งใช้ผลผลิตยิ่งลดลงเรื่อยๆไปถามผู้รู้ท่านก็ตอบว่าเพราะดินไม่ดี ดินมันตาย มันไม่มีชีวิต
ดินที่มีชีวิต เป็นดินที่มีความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดินรวมถึงจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินด้วย สมดุลของจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินสภาพธรรมชาติก็คือ ความสมดุลในด้านของจุลินทรีย์และความหลากหลายของจุลินทรีย์ ฉะนั้นจำนวนจุลินทรีย์กับความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ดินที่เหมาะสมที่สุดในการทำการเกษตร คือดินที่มีจุลินทรีย์อยู่หลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ดินป่า ซึ่งนั้นคือตัวอย่างของดินที่มีชีวิต
ในอดีตการทำการเกษตรของไทยทั้งพืชยืนต้น ผักสวนครัวและพืชล้มลุกใช้ปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อยก็ได้ผลผลิต ผลตอบแทนที่สุดแสนจะคุ้มค่าจึงเป็นค่านิยมเดิมๆของเกษตรกรที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเรื่อยมาเป็นการสอนต่อจากรุ่นสู่รุ่นว่าปุ๋ยสูตรนั้นสูตรนี้ดีมากมาย มีการไถตากพื้นดิน โรยปูขาว เผาทำลายวัชพืช ตอซัง ซากพืช ซ้ำร้ายยิ่งกว่าคือการใช้สารเคมีล้วนๆในการกำจัดวัชพืชต่างๆและนั้นเป็นสาเหตุสะสมมาอย่างต่อเนื่องที่ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่เป็นตัวสร้างสภาวะแวดล้อมให้พืชหรือสร้างระบบนิเวศน์ในดินได้ถูกทำลายลงอย่างถาวรแต่สิ่งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืชแมลงศัตรูพืชกลับพัฒนาตนเองให้มีชีวิตอยู่ได้และมีความต้านทานสารเคมีต่างๆมากขึ้น
จุลินทรีย์ในดินมีหน้าที่ในกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการแปรสภาพอินทรีย์วัตถุ ซากพืช ซากสัตว์มูลสัตว์ต่างๆในดินให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหาร กรดอะมิโน และฮอร์โมนพืชชนิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับพืช เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าจุลินทรีย์ก็คือ ตัวการที่จะทำให้สารอินทรีย์ย้อนกลับไปเป็นธาตุอาหารพืชใหม่ได้อีกครั้ง นั่นคือทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารพืชในดิน ในปัจจุบันการทำการเกษตรมีการใช้ปุ๋ยเคมีกันมากเพราะความต้องการผลผลิตที่มากขึ้น เมื่อต้องการผลผลิตมากขึ้นก็จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยการผลิตอื่นๆใส่เข้าไปเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการใช้อย่างไม่สมดุล เป็นการใช้อย่างทำลายมากกว่า จะเห็นได้จากกรณีการเปิดป่า หรือการนำพื้นที่มาใช้จะเริ่มต้นด้วยการเผา ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ส่วนหนึ่งตายไป และอินทรีย์วัตถุส่วนหนึ่งหายไป ส่วนที่เคยอยู่ในระบบก็หายไปอยู่นอกระบบ เมื่อจุลินทรีย์หลายชนิดตายไปอีกหลายชนิดก็ลดจำนวนลง อัตราการเกิดกระบวนการหมุนเวียนย้อนกลับไปเป็นปัจจัยการผลิตก็ลดน้อยลง เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้ตายหรือลดน้อยลงก็ทำให้ดินนั้นตายไปด้วย และนี่คือบทบาทของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อต้องการให้ระบบนิเวศของดินกลับมาทำงานหรือกลับมามีชีวิตเกษตรกรจึงต้องเติมจุลินทรีย์เหล่านั้นเข้าไปในสวนเกษตรของเกษตรกร
หน้าที่เข้าชม | 1,860,262 ครั้ง |
ผู้ชมทั้งหมด | 1,249,840 ครั้ง |
ร้านค้าอัพเดท | 25 เม.ย. 2561 |